รวมบทความชาวลุ่มน้ำโขงศึกษา ประจำปี 2561

การท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์:  อัตลักษณ์ชาติพันธุ์มอญและการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ 
โดย ภควดี ทองชมภูนุช และ พัชรินทร์ ลาภานันท์
ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศำสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ในชุมชนมอญ โดยวิเคราะห์ภายใต้แนวคิดและข้อถกเถียงเกี่ยวกับการท่องเที่ยวชาติพันธุ์ที่มองการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับมิติเศรษฐกิจและอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาข้อมูลจากเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและศึกษาภาคสนามที่หมู่บ้านวังกะ จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่าง พ.ศ. 2557-2558 ผลการศึกษาพบว่า ชาวมอญวังกะอพยพเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2491 สาเหตุหลักมาจากสถานการณ์สู้รบระหว่างกองทัพทหารพม่ากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวมอญพลัดถิ่นให้ความสำคัญกับการรักษาประเพณี สถาปัตยกรรมและอัตลักษณ์ชาติพันธุ์มอญ ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา ภาครัฐส่งเสริมหมู่บ้านวังกะให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางชาติพันธุ์ มีจุดเด่นคือ วัฒนธรรมมอญ "แบบดั้งเดิม" ซึ่งได้สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจแก่ชาวมอญ ในบริบทนี้คนวังกะนำเสนออัตลักษณ์มอญผ่านการประกอบสร้างเพื่อตอบสนองความคาดหวังของนักท่องเที่ยวและการคงไว้ซึ่งประเพณีดั้งเดิม เพื่อรักษาความหมายและคุณค่าทางวัฒนธรรมได้กลายเป็น "จุดขาย" ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว จากประสบการณ์ของชาววังกะ การท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ได้สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจควบคู่การธำรงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์

(เข้าไปดาวน์โหลดบทความฉบับเต็มได้ที่นี่)




วีรชนในแบบเรียนประวัติศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
ของจีนปัจจุบัน
โดย  DanTingLi ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ และ เบญจวรรณ นาราสัจจ์
หลักสูตรลุ่มน้ำโขงศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บทคัดย่อ

วีรชนเป็นองค์ประกอบหลักของกิจกรรมทางสังคมและประวัติศาสตร์ การศึกษาประวัติศาสตร์จำนวนมากจึงเป็นการศึกษาบทบาทและความสำคัญของวีรชนในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์  บทความชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่ารัฐบาลจีนมีการนำเสนอเรื่องราววีรชนระบบฮ่องเต้ในแบบเรียนประวัติศาสตร์จีนเป็นอย่างไร และรัฐได้มีการสอดแทรกอุดมการณ์ชาติผ่านวีรชนเหล่านี้อย่างไร โดยใช้วิธีการศึกษาทางประวัติศาสตร์ด้วยการวิเคราะห์หนังสือแบบเรียนประวัติศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นของจีน  ผลการศึกษาพบว่าแบบเรียนประวัติศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นได้กล่าวถึงวีรชนจีนเป็นจำนวน 47 คน โดยมีเพศชาย 46 คน เพศหญิงคนเดียวสามารถแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ประกอบด้วย (1) ฮ่องเต้ (2) นักวิทยาศาสตร์/ผู้สร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี (3) ผู้นำการปฏิรูป/ ผู้นำปฏิวัติ/ผู้นำทางการเมือง/ผู้นำจลาจล (4) ทหาร/ข้าราชการ/ ผู้ปกป้องแผ่นดิน (5) ผู้เปิดเส้นทางติดต่อโลกภายนอก (6) นักปรัชญา/นักคิด และ (7) อื่นๆ เช่น จิตรกร เป็นต้น จากจำนวนวีรชนทั้งหมดในหนังสือแบบเรียนนี้ พบว่า แบบเรียนประวัติศาสตร์ มีการเขียนถึงฮ่องเต้ในประวัติศาสตร์จีนยุคโบราณจำนวนมากที่สุด ส่วนแนวการเขียนวีรชนในแบบเรียนนั้น ผู้เขียนใช้กรณีจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งเป็นฮ่องเต้ที่ถูกอุทิศจำนวนหน้าเขียนมากที่สุด โดยมีการนำเสนอจิ๋นซีฮ่องเต้ทั้งในด้านดีและด้านที่เป็นความผิดพลาด เน้นแนวคิดทางการปกครองของจิ๋นซีฮ่องเต้ มีการสอดแทรกด้วยอุดมการณ์ความเป็นเอกภาพแห่งชาติ

(เข้าไปดาวน์โหลดบทความฉบับเต็มได้ที่นี่)




The Use of Social Capital in Organizing the Frog Festival of Baying Village in the Context of Cultural Tourism Development
โดย  Houdian Ya, Jaggapan Cadchumsang
ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศำสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้ทุนทางสังคมในการจัดงานเทศกาลกบในหมู่บ้านปาอิงภายใต้กระแสการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ข้อมูลที่ใช้ในบทความนี้ได้มาจากการวิจัยเชิงคุณภาพซึ่งมีวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ประกอบด้วยการทบทวนวรรณกรรมและการเก็บข้อมูลภาคสนามที่หมู่บ้านปาอิง อำเภอตุงหลาน เมืองเหอฉือ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง สาธารณรัฐประชาชนจีน วิธีการที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม ได้แก่ การสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลักอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ รวมทั้งการสังเกตอย่างมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม ผลการวิจัยชี้ว่า ทุนทางสังคมที่ถูกนำมาใช้ในการจัดงานเทศกาลกบในหมู่บ้านปาอิงมี 3 รูปแบบ ได้แก่ เครือข่าย บรรทัดฐาน และความไว้วางใจ นั้นถูกนำมาใช้จัดงานเทศกาลกบซึ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยรัฐ ทุนทางสังคมในรูปแบบเครือข่ายซึ่งมีทั้งที่เป็นแบบการร้อยรัดกลุ่มเครือญาติ การประสานระหว่างคนในและนอกหมู่บ้าน และการเชื่อมโยงระหว่างชาวบ้านกับภาครัฐนั้นพบว่า เครือข่ายแบบการร้อยรัดมีความสำคัญมากที่สุดเพราะไม่เพียงเป็นการยึดโยงผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดในหมู่บ้านปาอิงเท่านั้น แต่ยังรวมเอาผู้คนจากหมู่บ้านใกล้เคียงที่มีสำนึกของ “ความเป็นจ้วง” ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงานเทศกาลกบอย่างแข็งขัน นอกจากนี้ยังพบว่า ทุนทางสังคมอีก 2 ประเภทคือ บรรทัดฐานและความไว้วางใจก็มีบทบาทสำคัญในการจัดเทศกาลกบจนนำมาซึ่งความสำเร็จในการจัดงานและเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็ง

(เข้าไปดาวน์โหลดบทความฉบับเต็มได้ที่นี่)




The Historiography of the Defeat of the Haw in Thai and Lao Documents, 1868-1888
โดย  Aunchun Meeso, Dararat Mattariganond, Marasri Sorthip
ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศำสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บทคัดย่อ

บทความนี้มุ่งศึกษางานเขียนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการปราบฮ่อในเอกสารไทยและลาวพ.ศ. 2411-2431 โดยใช้วิธีการศึกษาทางประวัติศาสตร์ ศึกษาจากเอกสารประเภทใบบอกจดหมายเหตุ พงศาวดาร หนังสือ ฯลฯ ทั้งในไทยและลาวเป็นหลัก ผลการศึกษาพบว่า การที่ฮ่อเข้ามารุกรานดินแดนลาวที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของไทยได้ก่อให้เกิดงานเขียนของไทยและลาวขึ้น สำหรับงานเขียนเกี่ยวกับการปราบฮ่อในเอกสารไทยพบว่า ในช่วงปราบฮ่อ พ.ศ. 2411-2431 ส่วนใหญ่เป็นเอกสารราชการประเภทใบบอกราชการทัพฮ่อพระบรมราโชวาท คำให้การ ใช้เป็นหลักฐานชั้นต้น นอกจากนี้ยังมีงานเขียนประเภทบันทึกการเดินทางและประเภทนิราศ งานเหล่านี้ได้ส่งอิทธิพลต่องานเขียนในเวลาต่อมา และได้สะท้อนมุมมองของผู้ที่ไปปราบเพื่อปกป้องดินแดนของตน และเพื่อแสดงสิทธิอันชอบธรรมในดินแดนลาว สำหรับงานเขียนในเอกสารลาวช่วงเดียวกันนี้พบว่า เป็นงานเขียนประเภทพงศาวดารเมืองที่เกิดเหตุการณ์ฮ่อเข้ามารุกราน ถูกผลิตขึ้นเพื่อยื่นยันสิทธิอันชอบธรรมในการเป็นเจ้าประเทศราชของไทย ขณะเดียวกันงานเขียนกลุ่มนี้ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงความทุกข์ยากที่ได้รับจากการเข้ามารุกรานของฮ่อและความไม่สงบที่เกิดขึ้นภายในดินแดน งานทั้งสองกลุ่มนี้ได้ส่งอิทธิพลต่องานเขียนช่วงหลังเหตุการณ์ปราบฮ่อด้วยเช่นกัน

(เข้าไปดาวน์โหลดบทความฉบับเต็มได้ที่นี่)

No comments:

Post a Comment