จิตอาสาร่วมบุญทำโรงทานถวายแด่หลวงพ่อคูณและครูใหญ่ทุกท่าน

วันที่ 26 มกราคม 2562 ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดพื้นที่สำหรับจิตอาสาตั้งโรงทานภายในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงพ่อคูณ และครูใหญ่ทุกท่าน ณ บริเวณบึงศรีฐาน ใกล้กับหอประชุมกาญจนาภิเษก ทั้งนี้คณาจารย์และนักศึกษาของหลักสูตรลุ่มน้ำโขงศึกษา และหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ได้รวบรวมงบประมาณ เพื่อจัดทำโรงทานมหากุศลนี้ โดยแจกจ่ายอาหาร น้ำดื่ม และขนม สำหรับผู้ที่มาเข้าร่วมวางดอกไม้จันทน์ รวมถึงผู้ที่สัญจรไปมาด้วย


รวมบทความชาวลุ่มน้ำโขงศึกษา ประจำปี 2560

Negotiations, Everyday Life Practices and Power in a Thai-Cambodian Border Market: A Case Study of Cambodian Cart Carriers in Rong Kluar Market, Aranyaprathet District, Sa Kaeo Province
Kanuengnit Promanus, Patcharin Lapanun

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจการต่อสู้ดิ้นรนในชีวิตประจำวันของแรงงานชาวกัมพูชาที่ประกอบอาชีพเข็นรถรับจ้างขนสินค้าจากตลาดชายแดนข้ามไปยังฝั่งกัมพูชาโดยใช้แนวคิดเรื่องปฏิบัติการในชีวิตประจำวันของ Michel De Certeau เป็นกรอบในการวิเคราะห์ และใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพในการศึกษา ผลการศึกษาพบว่า การประกอบอาชีพเข็นรถรับจ้างขนสินค้าข้ามแดนของชาวกัมพูชา ภายใต้ระบบการค้าข้ามแดนในยุคโลกาภิวัตน์ ไม่ได้สะท้อนว่า เส้นพรมแดนพร่าเลือนหรืออำนาจรัฐในพื้นที่ชายแดนลดลงแต่อย่างใด ในทางตรงข้ามอำนาจทั้งรัฐและทุนในพื้นที่ชายแดนกลับมีความหลากหลายและเข้มข้นขึ้น อำนาจปรากฏผ่านระเบียบกฎเกณฑ์และขั้นตอนในการปฏิบัติต่างๆ เกี่ยวกับการข้ามแดนและการจัดการการค้าชายแดน ในขณะเดียวกันคนเข็นรถรับจ้างไม่ได้ยอมต่ออำนาจอย่างสิ้นเชิง แต่กลับมีปฏิบัติการต่อรองในลักษณะต่างๆ รวมทั้งการฉวยใช้จังหวะและโอกาสเพื่อประโยชน์แก่ตน การวิเคราะห์ปฏิบัติการในชีวิตประจำวันตามแนวคิดของมิเชล เดอ เซอร์โต มักให้ความสำคัญกับ “ยุทธศาสตร์” รัฐ และปฏิบัติการในระดับปัจเจก อย่างไรก็ตามชีวิตประจำวันของคนเข็นรถรับจ้าง มีการต่อรองกับอำนาจทั้งรัฐและทุน และแม้ปฏิบัติการในระดับปัจเจกมีหลากหลายรูปแบบ แต่ภายใต้บริบทที่ปฏิบัติการในระดับปัจเจกไม่ใช่ “กลยุทธ์” ที่สามารถจัดการสถานการณ์และปัญหาในชีวิตประจำวันได้คนเข็นรถเลือกใช้การต่อรองในระดับกลุ่มผ่านการรวมตัวชุมนุมประท้วง บทความนี้นำมาสู่ข้อเสนอว่า กรอบการวิเคราะห์ปฏิบัติการในชีวิตประจำวันต้องคำนึงถึงความหลากหลายของอำนาจ และระดับในการวิเคราะห์ต้องสอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่ศึกษาไม่จำกัดอยู่เฉพาะระดับปัจเจกและอำนาจรัฐเพียงเท่านั้น

(เข้าไปดาวน์โหลดบทความฉบับเต็มได้ที่นี่)

รวมบทความชาวลุ่มน้ำโขงศึกษา ประจำปี 2561

การท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์:  อัตลักษณ์ชาติพันธุ์มอญและการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ 
โดย ภควดี ทองชมภูนุช และ พัชรินทร์ ลาภานันท์
ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศำสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ในชุมชนมอญ โดยวิเคราะห์ภายใต้แนวคิดและข้อถกเถียงเกี่ยวกับการท่องเที่ยวชาติพันธุ์ที่มองการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับมิติเศรษฐกิจและอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาข้อมูลจากเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและศึกษาภาคสนามที่หมู่บ้านวังกะ จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่าง พ.ศ. 2557-2558 ผลการศึกษาพบว่า ชาวมอญวังกะอพยพเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2491 สาเหตุหลักมาจากสถานการณ์สู้รบระหว่างกองทัพทหารพม่ากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวมอญพลัดถิ่นให้ความสำคัญกับการรักษาประเพณี สถาปัตยกรรมและอัตลักษณ์ชาติพันธุ์มอญ ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา ภาครัฐส่งเสริมหมู่บ้านวังกะให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางชาติพันธุ์ มีจุดเด่นคือ วัฒนธรรมมอญ "แบบดั้งเดิม" ซึ่งได้สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจแก่ชาวมอญ ในบริบทนี้คนวังกะนำเสนออัตลักษณ์มอญผ่านการประกอบสร้างเพื่อตอบสนองความคาดหวังของนักท่องเที่ยวและการคงไว้ซึ่งประเพณีดั้งเดิม เพื่อรักษาความหมายและคุณค่าทางวัฒนธรรมได้กลายเป็น "จุดขาย" ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว จากประสบการณ์ของชาววังกะ การท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ได้สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจควบคู่การธำรงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์

(เข้าไปดาวน์โหลดบทความฉบับเต็มได้ที่นี่)