รายงานโดย ศิวกร ราชชมภู และ พิกุล สมัครไทย
การประชุมวิชาการครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้เป็นเวทีในการนำเสนอผลงานทางวิชาการของนักศึกษา และเพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสเข้าร่วมรับฟังการเสนอบทความวิชาการของนักวิจัยอื่นๆ อันจะมาซึ่ง การสร้างฐานความรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์และสามารถนำมาพัฒนางานศึกษาวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
โดยกิจกรรมในช่วงเช้าของวันแรกเป็นพิธีเปิดงานประชุมโดยมี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคามกล่าวต้อนรับ และรศ.ดร.ณัฐมา พงศ์ไพโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ สกสว. กล่าวเปิดงาน จากนั้นเป็นการกล่าวปาฐกถานำโดยศาสตราจารย์ ดร. ฮายามิ โยโกะ ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ในประเด็นเรื่อง “Thinking about Care and Aging in Thailand Today a Humanities Perspective” นอกจากนี้ยังมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่าน อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ศาสตราจารย์ ดร.ยศ สันตสมบัติ ได้ให้เกียรติบรรยายพิเศษในหัวข้อที่มีความน่าสนใจ และเป็นเรื่องท้าทายในโลกไร้พรมแดนอีกด้วย
สำหรับการนำเสนอบทความวิจัยในครั้งนี้ มีบทความวิจัยที่ได้รับการคัดเลือกทั้งหมด 38 บทความ แบ่งออกเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้ วันที่ 6 กันยายน 2562 ประกอบด้วย ปรากฏการณ์ท้องถิ่นนิยม ศาสนาและความเชื่อ เวียดนามศึกษา/การศึกษา วรรณกรรม ผู้หญิง และอัตลักษณ์ ลาวศึกษา และประวัติศาสตร์ ในวันที่ 7 กันยายน 2562 ประกอบด้วย วรรณกรรม การเมือง และท้องถิ่น สังคมวิทยาการแพทย์ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ชายแดนศึกษาแรงงานข้ามชาติ ศาสนาและความเชื่อ โดยตัวแทนหลักสูตรลุ่มน้ำโขงศึกษา ได้แก่ นางสาวพิกุล สมัครไทย เข้าร่วมนำเสนอผลงานในหัวข้อเรื่อง “พระเจ้าวงศาธรรมิกราช มหาธรรมิกราชแห่งยุคทองของล้านช้าง” ซึ่งมีผู้นำถกบทความคือ รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญญพันธ์ุ พจนะลาวัณย์
โดยภาพรวมจากการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้พบว่า นักศึกษาได้รับโอกาสในการนำเสนอผลงานทางวิชาการของตนเองต่อเวทีวิชาการที่มีผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็น ทำให้สามารถนำไปปรับปรุง และพัฒนาต่อยอดได้ นอกจากนี้ยังได้ช่วยเปิดโลกทัศน์ทางวิชาการใหม่ๆ นำมาซึ่งความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักเท่าทันกระแสการศึกษาทางด้านมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
No comments:
Post a Comment