โครงการบรรยายพิเศษด้านพม่าศึกษา ประจำปีการศึกษา 2562

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2562 หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาลุ่มน้ำโขงศึกษา ร่วมกับหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการบรรยายพิเศษด้านพม่าศึกษาสองหัวข้อ คือ “ความจำข้ามพรมแดน: อองซานกับการกลายเป็นความทรงจำ​​​ร่วมของชาวพม่าในจังหวัดระนอง” และ “รู้เขา รู้เรา รู้ใคร : ความรู้ และความเป็นสมัยใหม่ใน​​​​วรรณกรรมการเดินทางพม่ายุคหลังอาณานิคม” ณ ห้องประชุม 2 อาคาร HS05 โดยมีวิทยากรที่ให้เกียรติมาบรรยายครั้งนี้สองท่าน คือ อาจารย์ขวัญข้าว สังขพันธานนท์ และอาจารย์กฤษณะ โชติสุทธิ์ จากสาขาวิชาพม่าศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร การบรรยายพิเศษครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสริมองค์ความรู้ และต่อยอดประเด็นศึกษาที่น่าสนใจ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับองค์ความรู้ด้านพม่าศึกษาให้กับนักศึกษาในหลักสูตรฯ และบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังทั้งหมด 80 คน

รายงานโดย ศิวกร ราชชมภู

ภาพรวมของการจัดโครงการพบว่ามีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังการบรรยายทั้งที่เป็นนักศึกษา และบุคคลทั่วไปจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยน ซักถามประเด็นข้อสงสัยของผู้รับฟังการบรรยาย และได้รับคำตอบจากวิทยากร แสดงให้เห็นถึงความสนใจของผู้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี

สำหรับการบรรยายของจารย์กฤษณะ โชติสุทธิ์ อาจารย์ได้อธิบายเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องความทรงจำที่ถูกนำมาใช้ในการศึกษาประเด็นปัญหาต่างๆ นับตั้งแต่อดีตึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้ฉายภาพให้เห็นถึงงานศึกษาชิ้นสำคัญที่มีการศึกษาเกี่ยวกับนายพลอองซานที่มีมาด้วย จากนั้นอาจารย์ได้เล่าถึงปรากฏการณ์สนาม คือ พื้นที่จังหวัดระนอง ว่ามีการนำเสนอความทรงจำเกี่ยวกับนายพลอองซานของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในพื้นที่ส่วนตัว พื้นที่สาธารณะ กิจกรรมพิเศษอย่างงานร้อยปีชาตกาลนายพลอองซาน และงานยกฉัตรพระเจดีย์

ส่วนการบรรยายของอาจารย์ขวัญข้าว สังขพันธานนท์ เป็นการพูดถึงวรรณกรรมการเดินทางของพม่ายุคหลังอาณานิคมที่แสดงให้เห็นถึงทัศนะที่ผู้ประพันธ์มีต่อความเป็นสมัยใหม่ของตะวันตก โดยอาจารย์มองว่าวรรณกรรมการเดินทางที่เขียนขึ้นโดยชาวตะวันออกนั้นไม่จำเป็นต้องมีขึ้นเพื่อต่อต้าน หรือคัดง้างกับความเป็นตะวันตกของเจ้าอาณานิคมเสมอไป หากแต่ในตัวบทที่อาจารย์ได้วิเคราะห์พบว่า ผู้ประพันธ์ หรือผู้จดบันทึกวรรณกรรมการเดินทางมีทัศนคติที่ดีต่อประเทศที่พวกเขาเดินทางไปสัมผัส ในที่นี้หมายถึง อังกฤษ และจีน นอกจากการได้สัมผัสกับความแตกต่างของวัฒนธรรมต่างชาติทำให้เกิดการ “รู้เขา” แล้ว ยังได้เกิดภาวะการสะท้อนกลับ ย้อนมองตนเอง หรือแม้แต่โหยหาอดีตอันรุ่งเรื่องที่ลับลาไป รวมไปถึงเกิดการวิพากษ์องค์ความรู้ในแบบฉบับจารีต ก่อให้เกิดภาวะ “รู้เรา” ขึ้นในขณะเดียวกัน

ช่วงท้ายเป็นการกล่าวปิดการบรรยายพิเศษโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนนันท์ บุ่นวรรณา ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาลุ่มน้ำโขงศึกษา ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ
โดยชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการบรรยายว่ามีความสำคัญต่อการต่อยอดองค์ความรู้ด้านพม่าศึกษาให้กับนักศึกษาทั้งสองหลักสูตรฯ ได้เป็นอย่างดี จากนั้น ตัวแทนนักศึกษาได้กล่าวขอบคุณวิทยากรทั้งสองท่าน จึงเป็นอันเสร็จสิ้นกิจกรรมในวันนี้
























No comments:

Post a Comment