โครงการสำรวจศึกษาแหล่งอารยธรรมโบราณตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ประจำปี 2561

หลักสูตรลุ่มน้ำโขงศึกษา ได้ดำเนินการโครงการสำรวจศึกษาแหล่งอารยธรรมโบราณตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ประจำปี 2561 ขึ้น ระหว่างวันที่ 13-15-23 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ในจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว บุรีรัมย์ และสุรินทร์ มีนักศึกษาปริญญาโท ของหลักสูตรฯ จำนวน 10 คน และอาจารย์ 5 ท่านเข้าร่วมโครงการ โดยโครงการนี้จัดร่วมกับโครงการประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมสัญจรตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา สำหรับนักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 ของหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจพื้นฐานดังกล่าวให้กับนักศึกษา ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของท้องถิ่นและภูมิภาคจากประสบการณ์ตรง การเพิ่มศักยภาพการวิจัยของนักศึกษาในการเก็บข้อมูลภาคสนามทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และการจัดการแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม ในพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งจะทำให้นักศึกษาเกิดความรู้ความเข้าใจภูมิหลังทางภูมิศาสตร์ สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรม ที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจ การค้า ศาสนา การปกครอง ตลอดจนเรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนปัจจุบันกับการอยู่ร่วมกันในพื้นที่อนุรักษ์วัฒนธรรม นอกจากนั้นนักศึกษายังได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน โดยนักศึกษามีส่วนร่วมในฐานะเป็นผู้ดำเนินโครงการด้วย


ทางหลักสูตรได้พานักศึกษาเข้าศึกษาตามสถานที่สำคัญต่างๆ ได้แก่ เมืองโบราณศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ด่านชายแดนไทย-กัมพูชา ตลาดโรงเกลือ ปราสาทสด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์ และกลุ่มปราสาทตาเมือน และปราสาทตาควาย จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้าชมและอนุเคราะห์วิทยากร จากสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี สำนักศิลปากรที่ 12 จังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งการดูแลความปลอดภัยและการต้อนรับเป็นอย่างดีจากพี่ๆ ทหารกองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 ที่ประจำอยู่บริเวณปราสาทตาเมือนธม และปราสาทตาควาย

จากการทำกิจกรรมตลอดระยะเวลา 3 วัน ของการจัดโครงการอาจารย์และนักศึกษา ได้ฝึกเทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูล ข้อมูลในภาคสนาม การสำรวจสังเกต ภูมิทัศน์วัฒนธรรม วิถีชีวิตศิลปวัฒนธรรมของผู้คนตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา

ด้วยความร่วมมือของนักศึกษาและอาจารย์ ทำให้โครงการสำเร็จลุล่วง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย นักศึกษาได้เรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี วัฒนธรรมวิถีชีวิตของผู้คนตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา รวมถึงวิธีการศึกษาและเก็บข้อมูลภาคสนาม และการได้ภาพเบื้องต้นเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการทำงานวิจัยต่อไป


























No comments:

Post a Comment